Monday, September 19, 2016

กาเเฟ...ของในหลวง




..บทความตอนพิเศษนี้ ดิฉันเเละทีมงาน Coffee Construct รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะ
นำมาเผยเเพร่ให้ผู้ที่อื่นในวงการกาเเฟไทยได้อ่านเป็นเรื่องราวที่น่าถูมิใจอย่างยิ่ง เกี่ยวกับกาเเฟของในหลวง..ที่ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูกจึงอยากจะนำบทความดีๆเหล่านี้ให้ผู้อื่นบ้างต้องขอขอบคุณผู้เขียนดังกล่าวที่สร้างบทความดีๆออกมาและจะขอเทอดทูนองค์ในหลวงอย่างล้นเกล้า...





บทความ โดย คุณปิ่นอนงค์ ปานชื่น


     มนุษย์เรารู้จักต้นกาแฟมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 แต่กว่าจะมาเริ่มต้นดื่มกาแฟกันก็ต้องใช้เวลาอีก 300 ปีต่อมา หนังสือแทบทุกเล่มเล่าเรื่องตรงกันว่า คาลดี เด็กเลี้ยงแพะชาวอาระเบีย ดินแดนที่เป็นประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบันเป็นคนสังเกตเห็นว่าแพะที่ตัวเองเลี้ยงไว้ไม่ยอมหลับ ยอมนอนสักที หลังจากไปกินเมล็ดและใบของต้นกาแฟ หลังจากไปเล่าให้พระฮะยี โอเมอร์ ฟังท่านเลยลองนำเมล็ดกาแฟมาคั่วแล้วต้มดื่ม มนุษย์เราก็ได้รู้จักกับการลิ้มรสชาติอันล้ำลึกของกาแฟที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

600 ปีต่อมาไวเหมือนโกหกกาแฟก็กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของชาวอาหรับไปแล้ว จากนั้นก็ค่อยๆ แพร่หลายไปยังอิตาลี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ…ก่อนจะเดินทางต่อไปรอบโลก แต่กว่าจะมาถึงเมืองไทยต้องรอถึง พ.ศ. 2447

เมื่อนายดีหมุน ชาวสวนบ้านโตนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เดินทางกลับมาจากการแสวงบุญที่เมกกะ พร้อมกับเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้า…และแล้วสวนกาแฟพันธุ์โรบัสต้าในบ้านเราก็เริ่มต้นจากวันนั้น….อาราบิก้าสายพันธุ์แรกในเมืองไทย

ในโลกนี้มีกาแฟมากกว่า 6,000 พันธุ์ แต่คนส่วนใหญ่กลับนิยมดื่มกาแฟจากกาแฟเพียง 2 พันธุ์ นั่นก็คือ อาราบิก้า (Arabica) และ โรบัสต้า (Robusta) อาราบิก้าเป็นกาแฟที่มีรสชาติดี จึงเป็นที่นิยมมากว่าโรบัสต้าที่มีปริมาณของกาเฟอีนสูงกว่า ทั้งยังมีรสชาติที่ขมและเปรี้ยวกว่า หากโรบัสต้ามีข้อดีตรงที่สามารถปลูกในพื้นที่ที่ปลูกอาราบิก้าไม่ได้

กาแฟพันธุ์อาราบิก้า เดินทางเข้ามาถึงบ้านเราช้ากว่าโรบัสต้าร่วม 50 ปี พระสารศาสตร์พลขันธ์ หรือ นายเจรินี ชาวอิตาลี จดบันทึกไว้ว่า คนไทยเริ่มปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าเมื่อ
พ.ศ.2493 โดยเมล็ดพันธุ์ยุคแรกๆ นั้นมาจากประเทศปาปัวนิวกินี ครั้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านมูเซอส้มป่อย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก


ทรงมีรับสั่งว่าพื้นที่บริเวณนี้น่าจะเหมาะสมในการปลูกกาแฟ หากมีการแนะนำส่งเสริมและสอนให้ชาวเขารู้จักวิธีจัดการที่ดีแล้ว จะกลายเป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่แตกต่างไปจากภาคใต้..




ด้วยเหตุนี้โครงการหลวงกับกรมวิชาการเกษตร จึงได้เริ่มศึกษาวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์บัลติมอร์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้ชาวไทยภูเขาเริ่มทดลองปลูกบนพื้นที่สูงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจจึงได้ส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาปลูกกันมากขึ้น

กาแฟของในหลวง

ใครจะรู้บ้างว่ากาแฟโครงการหลวงที่ให้ผลผลิตในรูปเมล็ดกาแฟดิบปีละ 250 – 300 ตันในวันนี้ จะเริ่มต้นมาจากต้นกาแฟเพียง 2 – 3 ต้น

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เล่าเรื่องโครงการหลวงมีความตอนหนึ่งว่า

“ เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นาน เวลาเสด็จประพาสต้นบนดอยก็ประกอบด้วย
การปีนป่ายเขามาก ในเรื่องนี้ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จฯ นินทามากมายว่านำเสด็จฯ ด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2 – 3 ต้น ซึ่งก็จริงอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมาย และก็เริ่มต้นจาก
2 – 3 ต้นนั่นเอง ”

กาแฟ 2 – 3 ต้นที่ว่านั้น มีเรื่องราวย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2517 ลุงพะโย ตาโร อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองล่ม สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าตอนนั้นเขายังเป็นคนหนุ่มที่พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมึกะคี จึงได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านให้คอยรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ลุงพะโยมีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวงอย่างใกล้ชิด
ลุงพะโยกล่าวว่า เมื่อมีรับสั่งถามถึงต้นกาแฟ จึงได้นำทางไปทอดพระเนตร ทรงมีรับสั่งสอนให้มีการใส่ปุ๋ย และนำหญ้ามาใส่โคนต้น เมื่อลุงพะโยนำเมล็ดกาแฟถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าเมล็ดกาแฟมีความสมบูรณ์ดี และปลูกในพื้นที่ได้จึงมีรับสั่งให้ส่งเสริมการปลูกกาแฟโดยใช้เมล็ดที่นายพะโยนำมาถวาย กลับคืนให้ชาวบ้านนำไปปลูกต่อ ต่อมาโครงการหลวงจึงได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟ และนำวิธีการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

ทุกวันนี้สวนกาแฟของลุงพะโยกลายเป็นสวนตัวอย่าง นอกจากมีกาแฟเต็มสวนแล้ว ยังมีข้าวเต็มยุ้ง ถนนหนทางสะดวก มีไฟฟ้าใช้  สิ่งที่หายไปคือไร่ฝิ่น...

ที่เป็นเช่นนี้ลุงพะโยให้เหตุผลว่า
“เป็นเพราะลุงปลูกกาแฟของในหลวง แล้วส่งขายให้กับโครงการหลวง”
นายจะหมอ ขอบด้ง ชาวเขาเผ่ามูเซอหมู่บ้านขอบด้ง สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าเสริมไว้ใน “ เล่าเรื่องโครงการหลวง ” โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ความว่า
“พระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาตอนนั้นพวกเราปลูกฝิ่นอยู่ พระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่ไร่ฝิ่น ถ่ายรูปแล้วบอกให้พวกเราเลิกปลูกฝิ่น หลังจากนั้นหม่อมเจ้า (ภีศเดช รัชนี) ก็ให้ปลูกท้อ บ๊วย สาลี่ กาแฟ”

วันนี้กาแฟของในหลวงที่ทรงพระราชทานกลับให้เกษตรกรในหมู่บ้านหนองล่ม ไม่ได้เป็นเพียงต้นกาแฟที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นกำเนิดของกาแฟอาราบิก้าโครงการหลวง และ อาราบิก้าในประเทศไทยอีกนับพัน หมื่น แสนต้นในวันนี้ปัจจุบันโครงการหลวงผลิตกาแฟ

โดยการรับซื้อกาแฟอาราบิก้าจากเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของมูลนิธิโครงการหลวง 20 แห่ง ได้แก่ อินทนนท์ อ่างขาง ป่าเมี่ยง ตีนตก ห้วยโป่ง ม่อนเงาะ ห้วยน้ำขุ่น เป็นต้น โดยรับซื้อจากเกษตรกรรายย่อยกว่า 2,000 ราย ในรูปแบบกาแฟกะลา (กาแฟที่ปอกเปลือกสีแดงออกเหลือแต่เมล็ดและเปลือกหุ้มเมล็ด) ปีละ 250 – 300 ตัน โดยจำหน่ายในรูปกาแฟเมล็ด (กาแฟดิบ) ให้แก่อุตสาหกรรมแปรรูปกาแฟ และ จำหน่ายในรูปกาแฟคั่วภายใต้ชื่อ กาแฟดอยคำ

เรื่องกาแฟของในหลวง ก่อนนี้เราคงไม่รู้เลยว่าจะเริ่มต้นจากกาแฟเพียง 2 – 3 ต้น ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธที่ทำให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นได้อย่างแยบยล จนกลายมาเป็นกาแฟดอยคำที่ให้รสชาติชวนลุ่มหลงและกลิ่นหอมกรุ่นที่ดื่มแล้วรู้สึกภาคภูมิใจเหลือเกินที่ได้เกิดในแผ่นดินใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร..



ขอพระองค์ทรงพระเจริญ..


ขอขอบคุณที่มา thailandcivetcoffee.wordpress.com
ขอบคุณภาพจากเว็ปไซร์ต่างๆ


ดูเพิ่มเติมได้ที่ :  http://coffeeconstruct.com
เว็บไซต์อื่นๆ :
http://www.beltandbearings.com
#โรงกาเเฟ













No comments:

Post a Comment